พิธีพระราชทานประริญญาบัตร 2554

วันเสาร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ล่องสะแกกรัง ...ตามรอยเสด็จประพาสต้น

      เสด็จประพาสต้น คือการเสด็จเพื่อสำราญพระราชอริยบถและพระราชหฤทัย อย่างสามัญ โดยไม่มีพิธีการอย่างทางการใดๆ ของพระเจ้าอยู่หัวหรือพระราชวงศ์ชั้นสูง
     ชื่อ"ตาอ้น" หรือเจ้าหมื่นเสมอใจราช เป็นมูลเหตุสำคัญต้นเหตุของการเรียกขานการเดินทาง "เสด็จประพาสต้น" อันเนื่องจากท่านเป็นพนักงานผู้ควบคุมบัญชาการ  เรือมาดเก๋ง 4 แจว ลำแรกอันเป็นเรือเสบียงในขบวนเสด็จ  รัชกาลที่ 5 ทรงเรียกขานเรือลำนี้ว่า  "เรือตาอ้น"  เรียกกันเร็วๆ รัวๆ เสียงเลยเพี้ยนเป็น "เรือต้น"
      "เรือต้น" จึงเป็นชื่อเรียก เรือมาดเก๋ง 4 แจว ลำอื่นๆในขบวนเสด็จด้วย และเมื่อมีการเสด็จโดย "เรือต้น" จึงเรียกว่าเป็นการ "เสด็จประพาสต้น" ซึ่งต่อมา คำว่า "ต้น" ยังหมายรวมถึง การเรียกอื่นๆ อย่างไม่เป็นทางการด้วย เช่น เรียกทรงเครื่องอย่างสามัญชนว่า "ทรงเครื่องต้น" หรือถ้าทรงปลูกบ้านแบบชาวบ้านก้เรียก "เรือนต้น"......เล่าสู่กันฟังค่อนข้างละเอียดก็เพื่อเป็นข้อมูล สาระ อันเป็นประโยชน์อย่าเพิ่งเบื่ออ่านละกันไปเสียก่อน
       พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสำราญพระราชอริยบถและพระราชหฤทัย อย่างสามัญพร้อมข้าราชบริพาร ในคราวเสด็จประพาสต้นเมืองกำแพงเพชร  เป็นการเสด็จประพาสต้นครั้งที่ 2 พ.ศ.2448 และภาพเรือมาดเก๋ง 4 แจว อันเป็นยานพาหนะต้นเรื่องของการเสด็จประพาสต้น เรียกว่า "เรือต้น"
ร.ศ.125 หรือ พ.ศ. 2449  รัชกาลที่ 5 ทรงเสด็จประภาสต้นหัวเมืองฝ่ายเหนือ เมืองกำแพงเพชร และในวันที่ 10 สิงหาคม 2449 ขบวนเสด็จก็ได้มาถึงถิ่นสะแกกรัง อุทัยธานี          
"...... 5 โมงเช้า ลงเรือมาดไปเข้าคลองสะแกกรังชั่วโมงเศษถึง เขายืมแพวัดไปจอดในที่ที่เคยจอดแต่ก่อน  ทำกับข้าวกินแล้วบ่าย 2 โมงเศษ  ลงเรือขึ้นไปเหนือน้ำหยุดถ่ายรูปแล้วขึ้นตลาด  คราวนี้ถนนแห้งเดินดุได้ทั่วถึง  ดูครึกครื้นกว่าตลาดกรุงเก่ามาก    กลับมาลงเรือแวะที่หน้าโบสถ์พบพระครูจันครู่หนึ่ง  แล้วกลับมามโนรมย์ ....."               
ตอนหนึ่งในพระราชนิพนธ์ ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในนามปากกาว่า นายทรงอานุภาพซึ่งได้ตามเสด็จด้วย  บอกเล่าถึงเหตุ การณ์ในวันนั้น ขบวนเสด็จมาหยุดพักอยู่ที่หน้า อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท ซึ่งพื้นที่ติดกับ อ.เมือง จ.อุทัยธานี แล้วพากันพายเรือจากแม่น้ำเจ้าพระยา  ผ่านเข้ามาทางคลองเล็กๆที่ชาวอุทัยธานีตั้งชื่อในภายหลังว่า "คลองเสด็จประพาสต้น" เข้าสู่แม่น้ำสะแกกรัง แล้วใช้เวลาผ่อนคลายทำกับข้าวหุงหากินกันในแพ ก่อนจะพากันขึ้นบก มาเที่ยวเมือง ชมตลาดและยังแวะนมัสการพระครูจัน เจ้าอาวาสวัดโบส (วัดอุโปสถาราม) ก่อนกลับไปขบวนเรือที่ อ.มโนรมย์ริมฝั่งเจ้าพระยา จากคำบรรยายก็ดูเป็นที่รื่นรมย์ สำราญพระราชหฤทัยเป็นอย่างดี
ร่องรอยตามพระราชนิพนธ์เหล่านี้ยังมีให้เห็นอยู่ครบถ้วนในปัจจุบัน  แม้เวลาจะผ่านเลยมากว่า 100 ปี วัดหลวงตาจัน คือวัดอุโปสถาราม ยังอยู่คู่กับริมน้ำสะแกกรัง เป็นหลักใจของชาวอุทัย อาคาร 8 เหลี่ยมทรงยุโรปสวยงาม ( ที่ได้รับการบอกเล่าว่า รัชกาลที่ 5 โปรดให้สร้างเป็นกุฏิของหลวงตาจัน พร้อมกับพระราชทาน เครื่องสังฆภัณฑ์อีกหลายรายการ
      ที่ปัจจุบันยังมีรักษาไว้ที่วัดแห่งนี้ด้วย) ตั้งเด่นเป็นสัญลักษณ์ อยู่ริมน้ำ คู่กับแพที่ใช้เป็นพลับพลารับเสด็จในครานั้นก็ยังลอยลำอยู่เช่นกัน  มาถึงวัดนี้แล้วอย่าพลาดชม ภาพเขียนบนฝาผนังพระอุโบสถ์ทั้งภายนอกและภายใน  สีสันสวยงามจัดจ้านเขียนไว้ตั้งแต่ยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น  ตลาดที่คณะพากันเดินชมเพลินใจ ก็ยังตั้งอยู่บนฝั่ง สะแกกรังตรงข้ามกับวัดโบสถ์  แต่วันนี้เปลี่ยนแปรไปเป็นตลาดเช้าที่คึกคัก จะครึกครื้นกว่าตลาดกรุงเก่าหรือไม่ คงต้องอาศัยคำตัดสินจากผู้มีโอกาสไปเที่ยวชมทั้ง 2 ตลาด

     อาคารแปดเหลี่ยม ทรงยุโรปที่ รัชกาลที่ 5 โปรดให้สร้างถวายหลวงตาจัน หน้าวัดอุโปสถาราม หรือวัดโบถส์ ริมน้ำสะแกกรัง

      มุมมองกว้างจากตลาดเช้า ฝั่งตรงข้ามวัดโบสถ์ มองเห็นภาพของวัดโดดเด่นสวยงาม แพสีแดงที่จอดอยู่หน้าวัด  เรียกว่าแพโบสถ์ ที่สร้างมาตั้งแต่ครารับเสด็จ รัชกาลที่ 5 เมื่อประพาสต้น มีการซ่อมแซมปรับปรุงเรื่อยมา  ปัจจุบันก็ยังใช้เป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมต่างๆของวัด และของชาวบ้านทั่วไปอยู่เป็นปกติ

      แต่ในทรรศนะของฉัน  ที่ยังไม่เคยไปเดินชมตลาดกรุงเก่ามาก่อน ต้องบอกว่า ตลาดเช้าริมน้ำสะแกกรัง ช่างน่าชม น่าชิม จริงเชียว ที่น่าชมเพราะตลาดอยู่ติดริมน้ำ มีภูมิทัศน์สวยงาม อันนี้ต้องยกความดีให้หน่วยงาน บริหารปกครองท้องที่รับผิดชอบ มีวิศัยทัศน์มองเห็นคุณค่าของถิ่นงาม  เปิดมุมมองหน้าน้ำให้กว้างไกล ไม่ให้มีอาคารก่อสร้าง ขยะรกรุงรัง อุจจาดตา ข้าว ปลา อาหาร ที่วางขายก็หน้าตาดี พืชผักสดงามปลูกจากแปลง เด็ดจากสวนมาขายกันสดๆ  และที่สำคัญสินค้าจำพวกปลาทั้งหลาย  ทั้งสด ทั้งแห้ง รวมถึงปลาร้า มีมากมาย ตัวโตจนน่าตกใจสมกับเป็นเมืองอู่น้ำจริงๆ  ลืมไม่ได้ถ้าคุณเป็น "ปลาร้าเลิฟเวอร์" ละก็ต้องซื้อจากตลาดนี้ติดมือกลับบ้านกันให้จงได้เชียว
      มาอุทัยต้องกินปลาแรดเห็นจะจริงแท้แน่นอน   ปลาแรดเป็นสัญลักษณ์ของเมืองอุทัยธานี นอกจากจะมีให้เห็นมากมายในตลาด  ในเมนูของทุกร้านอาหาร  แล้วยังเห็นเป็นป้ายบอกชื่อถนนในเมืองอีกด้วย  ส่วนที่น่ากินก็เพราะมีอาหารหลากหลายทั้งคาว หวาน ขายอยู่มากมายจนลายตา  ให้เลือกกินเลือกซื้อหอบหิ้วไว้เผื่อมื้อหน้ากันเลย  กว่ารายการชมตลาดจะจบสิ้น ก็อิ่มกันจนพุงกาง

      บรรยากาศตลาดเช้าริมแม่น้ำสะแกกรัง มองไปยังฝั่งน้ำตรงข้าม  จะเห็นวัดโบสถ์เป็นฉากหลังสวยงาม อาหารสดหลากหลาย โดยเฉพาะจำพวกปลา มีขายมากเป็นพิเศษ  นักท่องเที่ยวต้องใช้เวลาเช้ายามนี้ มาเที่ยวตลาดเพราะจะทั้งเพลินและทั้งอิ่ม  ไม่ต้องให้ใครมามอบประกาศนียบัตรรับประกัน . . . เชื่อเถอะ!
     
      เรือนแพ ในแม่น้ำสะแกกรัง เป็นอีกหนึ่งความโดดเด่นของเมืองอุทัยธานีอยู่ร่วมกันเป็นหมู่บ้าน ผูกแพหนาแน่นในทำเลงาม หน้าวัดอุโปสถาราม  รวมทั่วฝั่งตรงข้ามใกล้ตลาดเช้า แล้วกระจายตัวกันออกไปทั้ง 2 ปีกของแม่น้ำ ทุกเรือนแพมีบ้านเลขที่และทะเบียนบ้านรับรองการอยู่อาศัย เป็นการถือกรรมสิทธิ์ที่ถูกต้องตามกฏหมาย จากคำบอกเล่าของผู้รู้ชาวอุทัยธานีบอกว่าเดิมที บ้านเลขที่แพเหล่านี้มีมากกว่า 300 หลัง แต่ปัจจุบันเหลือชาวแพที่ยังอยู่บนแพรักวิถีแห่งน้ำ  อยู่ราว 200 หลัง และทางการก็ไม่อนุญาตให้มีการออกทะเบียนบ้านให้แพที่จะสร้างใหม่อีกแล้ว  
      ชาวแพเหล่านี้ดูจะมีความสุข สุนทรีกับวิถีในน้ำนี้ แต่ละหลังมีมุมสบาย ปลูกไม้ดอก ไม้สวนครัว ดูสวยงาม บางหลังก็ทาสีสันจี๊ดจ๊าด   เป็นแฟนซีอาร์ท ต้องนับว่าชุนชนแพแห่งนี้แต่งแต้มให้เมืองอุทัยมีเสน่ห์ชวนมองอีกมากโข ล่องเรือชมแพในแม่นำสะแกกรัง จึงเป็นอีกกิจกรรมที่ชวนเพลิน 

      เที่ยวไปตามรอยเสด็จประพาสต้นที่เมืองอุทัยธานี อาจจบลงแค่การเที่ยวไปตามสายน้ำแวะเยี่ยมบนฝั่งบ้าง ในจุดสำคัญ ริมน้ำสะแกกรัง แต่การเที่ยวไปในตัวเมืองอุทัยธานี ไม่ได้จบสิ้นลงเพียงเท่านี้ เพราะเมืองเล็กๆที่ฉันแอบติดดาวให้ ว่าเป็นเมืองสงบงามอีกแห่งหนึ่ง  ที่น่ามาสัมผัสให้ใกล้ชิด ยังมีอะไรที่น่าชมชื่นอีกมากมาย เมืองที่เต็มไปด้วยบ้านเก่า เรือนแถวอายุกว่า 100 ปี ถนนหนทางที่โล่งโปร่งสบายไม่จอแจด้วยยวดยานมากมาย   ยานพาหนะหลักในการสัญจรขนส่ง คือสามล้อถีบ จักรยานและซาเล้ง เป็นลมหายใจของชุมชน สมาคมกาแฟที่สมาชิกมักจะเป็นหนุ่ม (เหลือน้อย) ยังตั้งวงสนทนาเหนียวแน่นกันเป็นกิจวัตรในร้านกาแฟเก่าแก่  วิถีของเมืองชนบทที่เป็นไปเหมือนกับชุมชนเก่าแก่อีกหลายที่ 


ของกินของฝากหลากหลายก็มีให้เลือกชิมเลือกซื้อไม่ขาดแคลน นอกจากปลาจากแม่น้ำแล้ว ยังมีของฝากขึ้นชื่อ อีกอย่างที่ฉันยังประหลาดใจว่าทำไมต้องเป็น ขนมปังสังขยาด้วย เนื่องเพราะมีหลายเจ้าหลายยี่ห้อ ซึ่งล้วนแต่กล่าวอ้างว่าเป็นต้นตำรับ ลองชิมลองกินไปหลายเจ้า ก็ต้องยืนยันกันล่ะว่าอร่อยจริง รสชาติก็ดูจะไม่ต่างกัน คล้ายกับข้าวหลามหนองมน หรือหม้อแกงเมืองเพชร ประมาณนั้น ขนมปังสังขยาเมืองอุทัยเองก็ไม่ธรรมดา ไม่ได้ดังแต่ในถิ่นเท่านั้น วันนี้หลายเจ้าก็มาเปิดตัวโด่งดังกันในกรุงเทพฯ เมืองหลวง 
นักท่องเที่ยวอย่างเราท่าน ต้องลองหาวิธีอันเหมาะกับจริตของตัวเอง ให้เที่ยวเมืองอุทัยเป็นไปแบบรื่นรมย์สมใจ แต่มีวิธีหนึ่งใหม่ๆ ป้ายแดงร้อนๆจากเตา เพิ่มทางเลือกที่น่าสนใจ คือการนั่งรถตุ๊กๆ 2 ตอน 6 ที่นั่ง ที่ออกแบบมาให้บริการนักท่องเที่ยว ในการเที่ยวโดยรอบเมืองอุทัยโดยเฉพาะ (รถจอดรอให้บริการอยู่บริเวณ วงเวียน้ำพุในเมือง ) 
ถ้าหลงไหลในสายน้ำลองกระโจนลงไปรับความชุ่มฉ่ำ ในสายน้ำสะแกกรังดูบ้างก็น่าสนใจดี แต่ขอเตือนว่าอย่ากระโจนลงไปถึง 3 ครั้งเชียว เพราะมีคำเล่าขานกล่าวกันไว้ว่า.......
 ดำน้ำ สามผุด ไม่หลุดอุทัย
ไม่เชื่ออย่าลบหลู่เพราะมันเป็นจริงมาแล้ว   หนึ่งหนุ่มต่างถิ่นมาดำน้ำสามผุดที่นี่  และวันนี้ เขาก็ยังอยู่ในอุทัย และบอกว่าจะปักหลักอยู่อุทัยตลอดไป …..




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น