พิธีพระราชทานประริญญาบัตร 2554

วันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ปาย....หลากรส หลายอารมณ์


   ปาย ....ที่ใครๆก็อยากไป
   ปาย .... ที่บางคนบอกว่าเป็นสถานที่ สำหรับคู่รัก 
   ปาย ....ที่บางคนบอกว่าเป็นสถานที่ ไม่เหมาะสำหรับคนอกหัก 
  ปาย ....ที่บางคนบอกว่าเป็นสถานที่ ไม่เหมาะสำหรับคนเหงา (แต่ถ้าชวนคนเหงาอีกคนไปเหงาเป็นเพื่อน ก็โอเคนะ ) 
  ปาย ....ไม่เหมาะกันการไปเป็นหมู่ใหญ่
  ปาย ....สถานที่สำหรับศิลปิน
      ........หลายนิยามของความเป็นปาย  หลายครั้งต่างฤดูที่ได้มีโอกาส มองเห็นปาย .... วัฎจักรของปาย เปลี่ยนแปรไปตามกาล และอารมณ์ของผู้มาเยือนหลายหน้าหลากผิวพรรณ   ภาพของปายที่นำมาถ่ายทอด จึงขอเล่าไปตามอารมณ์และความรู้สึกที่ได้พบ ดูเล่นกันเพลินๆ แล้วลองสรุปนิยามของปายในทัศนะของคุณเอง
     อารมณ์นี้เลยที่อยากสัมผัส ใคร่ลิ้มลองมานาน  แล้วก็สมใจตามแรงอธิษฐาน ...ขนาดนั้นเชียว(มากไปนิดนึง) ได้บินเหนือเมฆปุยขาว ล่องลอยในฟ้าสีคราม มองมายังทุ่งนา ทะเลภูเขาที่ เขียว เขียว เขียว ขาดแต่สีคราม ของพื้นแผ่นน้ำ เพราะตลอดเส้นทาง ที่บินเหมือนนกเสรีเหนือฟ้า ปาย - เชียงใหม่ ล้วนเป็นการบินเหนือทิวเขาป่าไม้
 (แต่เจ้าของเครื่องบิน SGA บอกว่าเค้าเป็นผึ้งแรงฤทธิ์ ก็น่าจะใช่เหมือนกันเพราะจัดการบินได้สมบูรณ์แบบมาก...ไม่ได้เชียร์แต่ ช๊อบ...ชอบ จึงบอกต่อ) มองจากช่องหน้าต่างกระจกใส ลงมาเห็นถนนที่คดเคี้ยวเป็นขดเชือก วกวนแล้วก็ให้ทึ่ง ว่านี่หรือคือเส้นทางที่เมื่อหลายวันก่อนเราไต่ลัดเลาะมาจากเชียงใหม่


       สะพานไม้ไผ่ เป็นหมู่ที่ทอดข้ามลำน้ำปาย สะพานในดวงใจติดอันดับ Top five ของ บินหลา สันกาลาคีรี นักเขียนที่ชื่นชอบ เพราะสะท้อนความคิดได้แบบ โดนซะจริงๆ ในหลายแง่มุมของชีวิต

และมุมมองที่สะท้อนออกมาโดนใจ (อีกแล้ว)ว่า สะพานไม้ไผ่ดิบๆ ได้อารมณ์เหล่านี้ยังคงอยู่คู่ ปาย เป็นเพราะ นักท่องเที่ยวชอบมันสะท้อนอย่างบีบคั้นแกมกังวล   ที่เราเองก็  ปฎิเสธไม่ได้
                ปาย ..... ถ้าไม่มี สะพานไม้ไผ่ อารมณ์ปายก็จะหายไปอีกอักโข
                ปาย ..... ถ้าไม่มี สะพานไม้ไผ่ ก็จะขาดอะไรบางอย่างให้จดจำไว้ในใจ
      สายน้ำปาย สายเล็กที่ไหลลัดเลาะมาจากทิวเขา พอผ่านเข้ามาสู่ชุมชนปาย ก็จะเจอกับหมู่สะพานที่ถักสานจากไม้ไผ่ ทอดข้ามเป็นระยะๆ เชื่อมสองแนวฝั่งเพื่อใช้สัญจร แต่นั่นอาจจะเป็นประโยชน์ที่มองเห็นเป็นรูปธรรม แต่ในอีกมุมบางคนมองว่ามันเป็น วิญญาณของ ...ปาย

      ลองไปนั่งห้อยขาอยู่บนสะพานไม้ไผ่ เพ่งมองกรวดก้อนน้อยในสายน้ำ หรือยืนที่ปลายสะพาน  แล้วทอดสายตาออกไปตามแนวของลำน้ำที่คดโค้ง ไปจนสุดแนวมิติของทิวเขาที่ปรากฏเป็นฉากหลัง ณ ยามเช้าและยามเย็น บางคราแสงอาทิตย์สาดละลงบนผืนน้ำ ล้อกันให้เกิดเป็นแสงระยิบ หรือในบางคราที่มีหมอกระเรี่ย เป็นม่านบาง แล้วบอกตัวเองว่ามองเห็นอะไร
                                             คำตอบนี้คงต้องไปหากันเองที่....ปาย
สะพานไม้ไผ่ดูไม่คงทานถาวร แต่เหตุแห่งกันพังสลายไม่ใช่เพราะกาลเวลา แต่เป็นเพราะธรรมชาติ ของกระแสน้ำปาย ที่ดูงามใสไหลเอื่อยยามหน้าแล้ง แต่จะพลิกเป็นเกรี้ยวกราดถั่งโถม ยามหน้าน้ำ ส่งผลให้ในบางปีสะพานเหล่านี้จะถูกกวาดหายไปกับกระแสน้ำ และเมื่อสายน้ำสงบนิ่ง ซึ่งก็จะตรงกับฤดูท่องเที่ยวของปาย ชาวปายก็จะสร้างสะพานเหล่านี้ขึ้นมาใหม่ เป็นวัฎจักรแบบนี้มาช้านาน แต่เหตุแห่งการล่มสลายที่น่ากลัวและกำลังคืบคลานเข้ามา เห็นจะไม่ใช่เพราะธรรมชาติแต่เป็นกระแสแห่ง ความเจริญและวัตถุนิยม รวมทั้งความนิยม ความง่ายช่วยกันภาวนาขอให้มีสะพานไม้ไผ่อยู่คู่กับปายต่อไปเถิด ....เราไม่อยากได้ ....สะพานคอนกรีต!
          ช่วยกันภาวนาขอให้มีสะพานไม้ไผ่อยู่คู่กับปายต่อไปเถิด
....เราไม่อยากได้ ....สะพานคอนกรีต!....

ไม่ใช่คอกาแฟ....แต่ชอบนั่งในร้านกาแฟ เพราะร้านกาแฟมีอะไรกุ๊กกิ๊ก
ไม่ว่าจะเป็นร้านกาแฟอาแป๊ะในตลาดเก่า ในตรอกแคบ  เป็นเพิงกาแฟร้านเล็กริมทาง  หรือร้านกาแฟหรูติดแอร์
       สั่งกาแฟสักแก้ว นั่งละเลียด จิบกาแฟเพลินๆ นิ่งแล้วมองไปรอบตัว ดูคน ดูบรรยากาศ ดูวิว รับรองต้องมีอะไรกุ๊กกิ๊กให้เบิกบาน แล้วถ้าเป็นกาแฟอร่อย กลิ่นกลุ่นหอมฟุ้งแล้วละก็จะยิ่งได้อารมณ์ลึกซึ้งจริงๆ
     ร้านกาแฟที่....ปาย มากมายน่านั่ง น่าลองลิ้มบรรยากาศ ทั้งดูร่าเริง  ทั้งดูขรึมๆ ทั้งน่ารักจุ๋มจิ๋ม บางร้านก็ติ๊ดซ้า...ปิดป้ายห้ามถ่ายรูปตัวโต (สันนิษฐานว่าเอาไว้ไล่แขก) บางร้านก็เปิดเผยเริงร่า ไม่หวงแถมเชิญชวน น่ารักจนต้องเก็บเอาไว้ในอ้อมใจ ต้องพูดถึงบอกต่อ ไม่คิดค่าโฆษณา


   Coffee in Love .... ไม่รู้คุณกาแฟหลงรักใคร แต่ถ้าเดาไม่ผิด คิดว่าคงหลงรักขุนเขาและนาเขียวสวยใสน่าชื่นใจ    ที่อยู่คู่กันเป็นแน่แท้  จึงได้ลงหลักปักฐานในทำเลที่มองเห็นที่รักได้ทุกวี่วัน  และโมงยามอย่างนี้

     น่าอิจฉาเจ้ากาแฟจริงๆ  เพราะเราเองก็หลงรักวิวสวยนี้เข้าเต็มเปาเหมือนกัน แต่สุดท้ายก็ต้องยอมจำนนคุณกาแฟ  เพราะเค้าเกิดมาคู่กันกับขุนเขาและนาเขียว ที่ประกอบกันเป็นภาพสวยแบบพาโนรามานี้จริงๆ .... เค้าทั้งสองจับคู่กันได้ลงตัว

     ถ้าไม่มีร้านกาแฟ ขุนเขาและนาเขียวจะงามจับใจอย่างที่เห็นหรือไม่  ถ้าไม่มีวิวสวย  ร้านกาแฟจะน่ารักตรึงใจได้อย่างนี้หรือเปล่า
    เมื่อเห็นสวยงามแล้วไยต้องครอบครอง แค่ชื่นชมน่าจะเป็นสุขใจ

    ดังนั้นจึงตกลงว่าให้เค้าอยู่คู่กันอย่างนี้เรื่อยไปจนนิรันดร์ดีกว่า แขกผู้มาทีหลังขอเป็นมิตรผู้มาเยี่ยมเยือนคู่รักนี้เป็นครั้งคราว ด้วยใจที่เปี่ยมสุข 

       ......แวะไปเยี่ยมคู่รักคู่นี้ได้ที่ริมถนน เชียงใหม่ - ปาย หลัก ก.ม.ที่ 95 ก่อนถึงตัวเมือง ปาย 2 ก.ม. อย่าเพียงแต่ไปจอดรถถ่ายรูป ชะโงกแวปๆแค่รั้วบ้าน แม้คุณกาแฟและหวานใจจะไม่หวงไม่ห้าม แต่ให้แวะเข้าไปเยี่ยมถึงเรือนชาน สั่งกาแฟสักแก้ว  คุยกับเขาและเธอ แล้วจะรู้ว่าที่นี่สวยงามด้วยความรัก บางที่คุณอาจจะเกิดอาการ...in love...เข้าให้บ้างก็ได้ แต่จะตกหลุมรักกับอะไรหรือกับใคร ..อะแฮ้ม..ก็เลือกเอาเองก็แล้วกัน

สะพานคลาสิก ที่ยืนเด่นเป็นเหมือนสัญญาณ บอกถึงการไปเยือนปายว่าอีกประเดี๋ยวจะถึงจุดหมายปลายทางแล้วเพียงแค่ 10 กม.ข้างหน้านี้ ไม่นาน....ไม่นาน

       แล้วก็เป็นเหตุเสียด้วยว่าเกือบทั้งร้อยของนักเดินทางที่มุ่งหวังพาหัวใจไปละลาย และซึมซับความเป็น...ปาย ต้องแวะทักทายว่า....เออพี่จ๋าเป็นอย่างไรนี่ มาอย่างไรนี่ ถึงได้มายืนเด่นอยู่ริมถนนอย่างนี้ เป็นการทักทายกระคนค้นหาว่าเค้ามาอย่างไรและมายืนอยู่ที่นี่ทำไม เพราะช่างแปลกแยกกับสิ่งที่แวดล้อม

     สะพานประวัติศาสตร์ ท่าปาย สร้างขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ราวพ.ศ. 2485 ร่วมสมัยกับสะพานเชื่อมทางสายมรณะ ที่แม่น้ำแควอันโด่งดัง ณ เมืองกาญจน์  ขณะที่ญี่ปุ่นใช้ประเทศไทยเป็นฐานบัญชาการรบ  ทหารญี่ปุ่นใช้อำเภอปายเป็นเส้นทางขนส่งจากเชียงใหม่ไปยังพม่า    สะพานแห่งนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งในเส้นทางลำเลียงกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์สู่พม่า  และเมื่อสงครามผ่านเลยสะพานก็ยังถูกใช้เป็นทางสัญจรมาอีกระยะหนึ่ง  จนมีสิ่งใหม่มาทดแทนจึงถูกปลดระวางให้ผ่อนพัก
      ซากประวัติศาสตร์นี้ผุพังไปตามกาล    ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นทางสัญจรเชื่อมโยงสายน้ำปายมาช้านานแล้ว  แต่ก็ยังยืนผ่านร้อนผ่านหนาวเป็นอนุสรณ์ให้ลำรึกถึงเรื่องแต่หนหลัง  แต่กระนั้นสะพานคอนกรีตที่สร้างคู่ขนานขึ้นใหม่เพื่อใช้งานแทน  กลับไม่สามารถลบรัศมีของสะพานท่าปายได้     ใครต่อใครจึงยังต้องแวะเวียนมาทักทาย พระเอกของเราอยู่ตลอดเวลา   จนวันนี้จากซากที่ถูกรุมเร้าทั้งสนิมในเนื้อเหล็ก และพื้นสะพานไม้ที่กร่อนผุ  ก็ถูกปรับปรุงแต่งตัวใหม่ขัดสีซะเรี่ยมเร้จากหน่วยงานที่รับผิดชอบ (กันยายน 2551) การปรับใหม่ก็มีทั้งที่ถูกใจและไม่ถูกใจ  ดีที่วันนี้เราสามารถเดินข้ามสะพานแวะทักทายสายน้ำปายได้ตลอดอย่างมั่นใจ  แต่ศาลาที่สร้างขึ้นชิดติดหัวสะพาน  กลับบดบังมุมมองและลดทอนความสง่างามของพระเอก มุมถ่ายภาพสวยๆก็ไม่สามารถทำได้ดังเดิม   การได้อย่างเสียอย่างมันก็เกิดคู่กันร่ำไปไม่มียกเว้นแม้กรณีนี้......

ปางอุ๋ง...สวิสเซอร์แลนด์ เมืองไทย

ปางอุ๋ง .... ชื่อที่ได้ยินจนติดหู ภาพทะเลสาบงาม ริมป่าสน
 ที่นักเดินทาง กระหายใคร่สัมผัส ... ครานี้ขอนำเสนอในอารมณ์ ดูเหงาๆ แต่มีพลัง
 ภายใต้อิทธิพลของ หมอกฝน ที่ยังโอบคลุม .... เหมือนจะลาแต่ยังอาลัย
  ปางอุ๋ง ... สวิสเซอร์แลนด์เมืองไทย
 คือพื้นที่ใน โครงการสวนป่าในพระราชดำริปางตอง 2 ในพระบรมราชินูปถัมภ์
ในเขต หมู่บ้าน รวมไทย อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน


 เส้นทาง ราว 50 กม. จากเมืองแม่ฮ่องสอนสู่ปางอุ๋ง เป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่น่าสนใจ
      แค่ออกจากตัวเมืองตามเส้นทางสู่ อ.ปายไม่กี่ ก.ม มีป้ายให้เลี้ยวซ้ายสู่ หมู่บ้านรวมไทย ระยะทาง 44 ก.ม. เลี้ยวซ้ายเข้าไป เริ่มเส้นทางสายสวยคดโค้ง ไต่ระดับสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ชมสายหมอกคลอเคลีย กับทะเลภูผาเป็นฉากหลัง ให้กับทุ่งนา ในหุบเขา ที่ในเวลานี้ มีแต่ สีเขียว กับเขียว ขจีไปทั้งทุ่ง ทำให้จินตนาการ มองไกลข้ามไป อีก 2-3 เดือนข้างหน้า ยามแสงสดใสทาบทา คนละอารมณ์กับยามนี้ ทุ่งเหล่านี้ก็จะเปลี่ยนเป็นทุ่งรวงทอง แล้วถึงยามเก็บเกี่ยว ภาพชีวิตกับกลิ่นฟางใหม่ ก็คงจะอวล ไปทั้งหุบเขา จินตนาการนี้ไม่เกินจริง ไม่ได้เป็นข้ออ้างที่จะกลับมา แม่ฮ่องสอนใหม่อีกรอบ เพื่อพิสูจน์
แต่สัญชาตญาณมันบอกว่า ... จะได้กลับมาอีกครั้งแน่ๆ
       ความน่าสนใจของเส้นทาง ไม่มีเพียงเท่านี้หรอก หมู่บ้านน้อยใหญ่ เขตชุมชน รายทาง บ้านเรือนยังเป็นไม้แบบดั้งเดิม ที่มุงหลังคาด้วยตองตึง ยังมีให้เห็นไม่ยากเย็น ไม่ต้องตามรอย ตามล่า อาคารเรียนในโรงเรียน เป็นอาคารไม้ชั้นเดียวยกพื้นสูง แนวระเบียงยาวหน้าห้องเรียน ยังเป็นที่จับจอง ประกอบกิจกรรมสนุกสนาน ของเด็กน้อย เหมือนเห็นภาพตัวเอง ครั้งยังเป็นเด็ก (ย้อนไปไกลจัง) ภายในรั้วบ้าน ระแนงไม้เตี้ยๆ แต่ละบ้านปลูก ลำไย ไม้สูง ให้ร่มเงา เย็นรื่นชื่นใจ มันน่ามาขี่จักรยานเล่น ชมหมู่บ้านซะจริงเลย 

      หมอกจำแป๋ หมู่บ้านใหญ่เป็นจุดแยก ซ้ายไปปางอุ๋ง ขวาไปถ้ำปลา (ระยะทางไปถ้ำปลา แค่ 3 ก.ม.) เลี้ยวซ้ายจากนี้ไป หนทางคดโค้ง ไต่เขาชันขึ้นเรื่อยๆ จนมือขับอ่อนสนาม ต้องร้องเพลง ถอยดีกว่า ไม่เอาดีกว่า
       .... ร้องเพลงนี้เตือนใจไว้ได้เลย ว่าอาศัยมืออาชีพจอมเก๋าขับให้ดีกว่า แต่รับประกันซ่อมฟรี! ขึ้นไปถึงจุดหมาย แล้วจะลืมไปเลยว่า เมื่อครู่ที่ผ่านมาเส้นทางมันชวนจั๊กจี้ใจอย่างไร   มาถึง บ้านนาป่าแปก หมู่บ้านรวมมิตรที่จะเห็นชาวบ้าน ทั้งกระเหรี่ยงและไทยใหญ่ แต่งกายเป็นเอกลักษณ์ ของใคร ของตัว เดินปะปน ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน แบบ Colorful น่าลงมาเดินเล่น ….. อีกแล้ว แต่คราวนี้ต้องเลี้ยวซ้ายเข้าไปให้ถึงจุดหมายที่ตั้งใจก่อน คราวหน้าจะหาเรื่อง มานั่งคุย กับแม่ค้าที่แผงขายขนม ดูผู้คนเพลินใจ เลี้ยวซ้ายเข้า หมู่บ้านรวมไทย แต่ถ้าตรงไปเป็น หมู่บ้านรักไทย หมู่บ้านของ ชาวจีน จากกองพล 93  ที่อพยพมาสร้างตำนาน แหล่งท่องเที่ยว จิบชา ชิมขาหมู อยู่บนดอยหลายแห่งในพื้นที่ ทางเหนือของไทย และที่นี่ก็จะละม้ายคล้ายกัน เป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่ง ที่ขึ้นชื่อของ แม่ฮ่องสอน  ผ่านหมู่บ้านรวมไทย ก็เข้าถึงจุดหมายแล้ว โครงการสวนป่าในพระราชดำริปางตอง 2ปางอุ๋งทะเลสาบสวย  อยู่เป็นคู่กับป่าสน เปิดภาพงามท้าสายตา เชิญสัมผัส......กันได้เลย 

กรอบนี้ ล้อมไว้ ทิ้งท้ายก่อนกลับ หลังจากชื่นชมสมใจ กับ ปางอุ๋ง แวะชิมกาแฟสด ที่ร้านน่ารักของ ลุงปาละ ในหมู่บ้านรวมไทย  ก็ร้านข้างทางฝั่งซ้าย ที่เราเลยตรงเข้าไปสู่ ทะเลสาบก่อน แต่แอบเหล่ตา กากบาทไว้ว่า กลับมา  จะต้องแวะ เพราะที่นี่เป็นที่ดังอีกแห่ง ที่ใครมา ปางอุ๋งก็ต้องแวะ ไม่อย่างนั้น มันจะกวนหัวใจไม่แล้ว ไม่เลิก




...แวะมาชิม "กาแฟกาแฟทำมือ" ของคุณลุง ต้องบอกว่าเป็นกาแฟทำมือจริงๆ เพราะกาแฟของลุงปาละ มันเริ่มตั้งแต่ แกลงมือปลูกเองกับมือ จนเก็บผล คั่ว บด และชง มาเสริฟกับมือ  เรื่องราว.....เริ่มมาจากที่บดกาแฟ กับหม้อต้มกาแฟใบน้อย ที่คุณลุงได้รับจาก เพื่อนนักท่องเที่ยว ชาวออสเตรเลีย   มันเป็นของแม่เค้า ซื้อมาจากอิตาลีโน่นคุณลุงอวดให้ชม อุปกรณ์ 2 ชิ้น ที่วางอยู่บนทิ้ง คู่กับหนังสือพิมพ์ฝรั่ง ที่เขียนบทความ ถึงแกขึ้นหน้าหนึ่ง   ลุงไม่ตัดต้นกาแฟทิ้ง เหมือนชาวบ้านคนอื่นแกเล่าถึงวันวานที่ผ่านมา ยามที่ ชาวบ้านพากัน ปลูกกาแฟ แล้วผลผลิตที่ออกมา ไม่รู้จะไปขายให้ใคร และขายที่ไหน (มีแต่คนมา บอกให้ปลูกๆๆๆ แล้วก็หายจ้อย เป็นอย่างนี้ทุกทีเลยเนอะ)   " เพื่อนฝรั่งบอกว่า อย่าตัดทิ้งให้เก็บมาคั่ว แล้วชงขาย เค้าเลยเอาหม้อต้มกับที่บดมาให้ลุง "   พื้นที่ในอาณาเขตบ้านคุณลุงเต็มไปด้วยต้นกาแฟ ที่ปลูกแซมไปกับกระท่อมหลังน้อย 3-4 หลัง  ที่แกปลูก ไว้ให้นักท่องเที่ยว เช่าเป็น โฮมสเตย์ รวมทั้งพื้นที่ด้านหลังติดทุ่งนา ก็เต็มไปด้วย กาแฟและต้นชา ครบวงจรเป็นเศรษฐกิจพอเพียงขนาดแท้ 

อย่าลืมไปอุดหนุนนะ.....กาแฟของลุงแก้วละ 20 บาท เท่านั้น
      เครื่องบดเม็ดกาแฟ ต้นตำนานวางอยู่คู่กับหนังสือพิมพ์ฝรั่ง หลักฐานการเป็นคนดังของลุง  กาแฟหอมหวนอร่อยลิ้น และอิ่มใจ เพราะเรื่องราวของมัน

เที่ยวเมืองโบราณ

    
       ไปหยุดรั้งเข็มนาฬิกา ให้เดินช้าลง " อีกมุมมองหนึ่ง เป็นทางเลือกของการไปเยือน เมืองโบราณ    นอกเหนือจาก ความโดดเด่นที่รู้จักกันในมุมกว้างของเมืองโบราณ  อาคารโบราณ มุงกระเบื้องขอดินเผา ชายคาฉลุลายขนมปังขิง ตั้งอยู่เป็นหมู่รวมเป็นหมู่บ้านเล็กๆ  สมมุติให้เป็นตลาดโบราณ พาย้อนยุคสู่อดีต มีขนมโบราณ ของกินสารพัน ขนมจีนในหม้อดินเผา หวานเย็นในถังสังกะสี ขนมไทยอีกมากมาย ชวนให้หยุด ชมเพลินลืมเวลาและอิ่มอร่อย นี่คืออีกหนึ่งของความรื่นรมย์ ที่มีให้สัมผัสในเมืองโบราณ  ยังไม่นับรวมร้านกาแฟจุ๋มจิ๋ม สไตล์แบบไทยแท้ อยู่ในมุมร่มรื่นที่กระจายอยู่ทั่วบริเวณ รองรับให้ผ่อนคลายความเมื่อยล้า ตลาดน้ำที่มีชีวิต ใช้เรือพายสัญจร อุดมไปด้วยก๋วยเตี๋ยวเรือ ที่ต้องมีอยู่เป็นคู่กับตลาดน้ำ มีให้เลือกชิมหลากเจ้า มาเป็นเพ็คคู่กันกาแฟโบราณ ไม่ได้ชี้ชวนให้มาเยี่ยมชมเมืองโบราณเพราะการนี้ แต่เล่าสู่กันฟังให้เห็นภาพความรื่นรมย์ ละเมียดละมัย กันการท่องเที่ยว ไม่ใช่เพียงแต่เร่งรัดเก็บสถิติ ประหนึ่งว่ากำลังแข่งขันกีฬาแห่งชาติประเภทการท่องเที่ยว หยุดเวลาให้เดินช้าๆแล้วซึมซับกับสิ่งรอบตัว มองไปโดยรอบแล้วจะพบกับ หลายสิ่งที่สวยงามประกอบกันลงตัว ช่วยเสริมให้เต็มอิ่มกับการชมจุดหลักจุดเด่นทั้งหลาย การชมเมืองโบราณโดยจักรยาน เป็นหนทางที่ดีที่สุดและได้รับความเพลิดเพลินสูงสุด ขอฟันธง! ไม่ต้องลำบากแบกหามไปเองเพราะที่เมืองโบราณ มีบริการให้ครบครัน จะขี่เดี่ยว 1 อาน เป็นคู่ 2 อาน หรือ ไปเป็นเแก๊งค์ 4-5 อาน ก็เลือกจักรยานให้ถูกใจกันได้ รับแผ่นผังที่มีให้พร้อม เมื่อซื้อตั๋วเข้าชมเมืองโบราณ แล้วเลือกไปตามเส้นทางที่สนใจ


      สิ่งก่อสร้างจำลองทั่วไทยที่ถ่ายทอดจากจิตวิญญาณ และความใส่ใจของท่านผู้ริเริ่ม คุณเล็ก วิริยะพันธุ์ มีมากมายสมดังหนึ่งในคำจำกัดความของเมืองโบราณที่ว่า ที่เดียว เที่ยวทั่วไทย เมืองโบราณมีอะไรให้ดูบ้าง คงไม่ขอเล่าความมากมาย ณ ที่ตรงนี้ แต่ให้เข้าไปดูที่ web site ของเมืองโบราณ http://www.ancientcity.com/

      พระที่นั่งสรรเพชญปราสาทจำลอง และภายในที่จำลองโดยใส่ใจในรายละเอียดแทบทุกตารางนิ้ว  เป็นผลงานชิ้นเอก เป็นเพชรบนยอดมงกุฎของเมืองโบราณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน ทรงใช้ที่นี่เป็นที่รับรองอาคันตุกะ องค์สำคัญคือพระราชินีอลิซเบทที่ 2 แห่งอังกฤษมาแล้ว
     แต่ที่อยากพูดถึงเป็นพิเศษ  และอยากให้ท่านที่ไปเที่ยวเมืองโบราณ  แวะไปชมเป็นอย่างยิ่ง คือ พระที่นั่งสรรเพชญปราสาท ที่จำลอง จากจินตนาการ   ซึ่งอ้างอิงจากหลักฐานมากมาย  ทั้งจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี และอื่นๆจากทุกหนแห่ง  ทุกแหล่งทั้งในและต่างประเทศเท่าที่จะหาได้ เพราะไม่มีต้นแบบที่แท้จริงให้ดูในปัจจุบัน เนื่องจากถูกพม่าเผาทำลายจนไม่เหลือแม้แต่ซาก มาตั้งแต่อยุธยาเสียกรุงครั้งที่ 2 คุณเล็ก วิริยะพันธุ์ และทีมงานทุ่มเทค้นคว้า อย่างหนักเป็นเวลาหลายปี จนความคิดตกผลึกและ ก่อให้เกิด พระที่นั่ง สรรเพชญปราสาท เป็นรูปธรรมให้เราได้เห็นในวันนี้


ที่มา :  http://www.thailandmgg.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=340681&Ntype=5

ตลาดบ้านเพ ... ช้อบปิ้งอาหารทะเลสดๆ


        มาถึงก็เลี้ยวออกมาทางขวาเพื่อมาหาที่จอดรถค่ะ ..พอจอดได้เป้นที่เรียบร้อยก็ถึงเวลา เดินสำรวจกันแล้วค่ะ

จากจุดจอดรถ เดินเข้าตัวตลาดไม่ไกลมากค่ะ
ระหว่างทางก็มีของขายเรื่อยๆค่ะ
โมบาย ...สวยๆๆ ทำจากเปลือกหอยสวยๆๆ
อันนี้ กั้ง กับ ปู สดๆๆ ค่ะ
กุ้งสดๆ เลยค่ะ
อันนี้ แมงดาทะเล เพิ่งขึ้นมาค่ะ คัดเลือกกันใหญ่


ร้อนๆๆ พร้อมรับประทานค่ะ


เสื้อสวยๆๆ จากระยองฮิ


ซื้อของฝากกลับด้วยนะค่ะ



ขอบคุณค่ะที่มาอุดหนุน โอกาสหน้าเชิญใหม่นะค่ะ

รำลึกถึง....ตลาดวิเศษชัยชาญ

    ถ้าย้อนเวลากลับไป 20 ปี ชีวิตและวิถีในตลาด หลังศาลเจ้าโรงทอง อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง ก็เห็นจะเป็นปกติสำหรับชาวกรุงไม่แท้อย่างฉัน แต่ในวันนี้ วิถีในกรุง เปลี่ยนแปลงชีวิตไป เป็นการอยู่และชินกับความ ทันสมัยด้วยโรคโหยหาอดีตจึงทำให้ตลาดเบื้องหน้านี้ดูคลาสสิก
ชิ้นมะพร้าวที่แม่ค้าจับยัดเข้าใส่เครื่องขูด รูปทรงเหมือนตู้สี่เหลี่ยมติดมอเตอร์ เสียงดังครืดๆ แปรสภาพเป็นละอองฝอยสีขาว ตกลงในกะละมังใบใหญ่ที่รองรับอยู่ มันก็ไอ้แบบเดียวกันกับที่ฉันเคยไปยืนดูแม่ค้าขายมะพร้าวขูดในตลาด เมื่อถูกแม่ใช้ให้ไปซื้อมะพร้าวมาคั้นกะทิทำขนมให้กิน
    ภาพร้านขายของสารพัดนึก ตั้งแต่ข้าวสารใส่กระบุงตวงขายเป็นลิตร น้ำตาลทรายในกระสอบตักชั่งขายเป็นกิโล พริกแห้ง หอม กระเทียม ในกระจาด เรื่อยไปจนถึงปูนแดงกินกับหมาก (ที่ฉันก็เคยวิ่งซื้อเอาไปแช่น้ำทำน้ำปูนใส ) ใส่ถุงพลาสติกเล็กๆ วางเรียงอยู่ในกะละมังอลูมิเนียม
     ตลาดวิเศษชัยชาญ ริมแม่น้ำน้อย ยังมีภาพแบบนี้อยู่เต็มเปี่ยม ชาวขุมชนยังดำเนินอยู่ในวิถีแบบนี้อย่างเป็นปกติ และมุ่งมั่นที่จะรักษามันเอาไว้ แม้สภาพบางอย่างอาจต้องปรับเปลี่ยนตามกระแสวัตถุนิยม สังคมบริโภค ที่ถาโถมเข้ามาตามแรงกระหน่ำของทุนนิยม ( นายกทักษิณบอกว่ามันจำเป็นและต้องปรับ เพื่อความเป็น โกลบอลไลท์เซชั่น ” ) บางอย่างอาจต้องซ่อมแซม สร้างเสริมเพราะความทรุดโทรมจากกาลเวลา แต่ก็พยายามรักษารูปแบบ โดยอาศัยอ้างอิงต้นแบบเดิม ให้กลมกลืนไม่โดดเพี้ยน
     ย่างก้าวแรกในตรอกแคบหลังวัดนางใน อันเป็นทางเข้าสู่ตลาด มีร้านขนมเก่าแก่ ที่อยู่คู่เมืองอ่างทองมา มากกว่า 30 ปี ตั้งอยู่เหมือนเป็นแผนกต้อนรับหน้าตาแฉล้ม ด้วยรูปแบบของร้านที่แม้จะปรับเปลี่ยนไปจากเดิม แต่ก็ขรึมเก๋ในรูปแบบแบบตะวันออก หรือ Oriental style ที่นักตกแต่งฮิตเอามาทำร้านหล้า แบบฮิปๆใน กทม.
      ขนมนมเนย ล้วนเป็นรูปแบบโบราณ ทำกันมาเนิ่นนาน ประเภท ขนมอบควันเทียน อย่าง กลีบลำดวน จ่ามงกุฎ ทองเอก ถูกจัดใส่ถุงตกแต่งสวยงามชวนซื้อ นี่ก็เป็นการปรับ เปลี่ยนในแนวสร้างสรรค์เพื่อการค้า ในยามที่คนยุคปัจจุบัน จะหลงรูปก่อนเข้าถึงแก่น นับเป็นการผสมผสานให้ลงตัวเพื่อความอยู่รอด
    ร้านตรงข้ามกันเป็นร้านกาแฟอาโกแบบเก่าเดิมๆ ที่ยังมีคอกาแฟหนุ่ม(เหลือ)น้อย ชาวตลาด ใช้เป็นที่สังสรรค์ประจำวันอย่างที่เคยเป็นมา หนุ่มๆก็ล้วนมีอัธยาศัย ส่งยิ้มกวักมืออนุญาตให้ฉัน ที่ดูยังไงก็รู้ว่าเป็นนักท่องเที่ยวพวกสอดรู้ ถ่ายภาพได้ตามสบาย
      เดินเลาะมาเรื่อยๆ ผ่านห้องแถวไม้แบบเก่า ที่ยังมีผู้คนอาศัยและใช้ชีวิตอย่างปกติ บ้านที่ไม่ได้ค้าขายจะเปิดประตูบานเพี้ยมแง้มไว้เพียงบานเดียว ส่วนบ้านไหนที่ค้าขาย เล็กๆน้อยๆ ก็เปิดประตูกว้างหน่อย วางแผงตั้งโต๊ะ ขายของหน้าบ้านไปตามกิจการ บ้านนี้ขายขนมรวงผึ้ง ติดธงเหลือง แสดงว่าเป็นอาหาร เจโฆษณาตามกระแสนิยมแห่งเทศกาลกินเจ (ซึ่งฉันก็สงสัยว่า ขนมรังผึ้งเนี่ย มันมีเนื้อสัตว์ หรือของแสลงเจเป็นส่วนประกอบด้วยหรือ)
     บ้านนั้นขายหมากพลู ของกระจุกกระจิก โน่นขายขนมเด็กแขวนเป็นแผงแบบเก่า จะแวะจับเบอร์ลุ้นรางวัล รำลึกถึงชีวิตวัยเด็กก่อนก็ได้ เหล่านี้มีให้ดูไป เดินไป เพลินๆตามรายทาง
     จนมาถึงตัวตลาดที่พื้นที่ขยายใหญ่ขึ้น เป็นสี่แยกแตกเป็นซอยซ้าย ขวา ร้านรวงก็ใหญ่ขึ้น ส่วนนี้น่าจะเป็นหัวใจของตลาด มีทั้งร้านขายผัก ของสดของแห้ง ขนมทำสดๆขายในรถเข็นและแผงน้อยใหญ่ อีกทั้งยังมีร้านขายขนมประเภทเดียวกับร้านที่ปากซอยเป็นดาราของนักท่องเที่ยว ให้ละลายทรัพย์กันได้อีกร้าน สมเป็นแหล่งของขนมโบราณจริงๆ
    บรรยากาศเป็นกันเองเมื่อเริ่มขึ้น ก็สุดจะยื้อยุด ความครื้นเครง คุณพี่บ้านถัดมา เปิดประตูออกมาเจอกล้อง ก็เอียงอายแบบธรรมชาติ แต่พอถูกขอให้เป็นแบบถ่ายภาพ คู่กับประตูบ้านบานไม้เก่า แกก็ยิ้มให้อย่างเต็มใจ บ้านเย็บผ้าใช้จักรแบบโบราณ คุณพี่ยิ้มทักทายสดใส บ้านทำขนมยกกระทะใบโต ออกมากวนข้าวเหนียวแดงหน้าบ้านกันอย่างขันแข็ง 
   บ้านเก่าของผู้มีอันจะกินหลังหนึ่งใน ตลาด ดำเนินกิจการค้าขายและอยู่อาศัยไปด้วย ก็มีการปรับแปลงโฉมของอาคาร ยืดอายุเพื่อการดำรงอยู่เป็นไปแบบคลาสสิค ชั้นล่างคุมโทนขรึมแบบเดิมจัดรูปแบบให้เอื้อกับการค้า แหงนหน้ามองดูชั้นบนก็จะเห็นระเบียงไม้ลายฉลุทาสีเขียวพลาสเทล โทนขรึมและหวานสลับกันจัดวางลงตัวงดงาม ติดกันเป็นบ้านคหบดี ที่สะสมของเก่าแบบจีน ทั้งตู้ เตียง ตั้งไม้ ภาพเขียน ของประดับมากมาย จัดแน่นอยู่ในห้องแถวไม้ที่ผ่านการปรับปรุงมาเช่นกัน 
      เดินชมกันเพลิดเพลินจนมาถึงท่าน้ำหลังตลาด เป็นที่ตั้งของโรงแรมที่เคยเป็นที่พักพิงให้กับนักแรมทาง ผู้คนที่ขึ้นล่องทำมาค้าขายในอดีต ซึ่งในปัจจุบันก็ทรุดโทรมชราภาพขาดการดูแลปรับปรุง จนให้บริการไม่ได้แล้ว แต่ก็ยังมีผู้ดูแลพักอาศัยอยู่เป็นปกติตามสภาพ ฉันขออนุญาตเดินขึ้นไปชมชั้น 2 ของอาคาร สภาพก็ยังจัดกั้นไว้เป็นห้องๆแบบเดิมที่เป็นมา (ตามคำบอกเล่าของผู้ที่อาศัยอยู่) แต่จุดน่าสนใจไม่ได้อยู่เพียงห้องเก่าเล่าอดีตเท่านั้น ระเบียงกว้างที่หันหน้าออกสู่ แม่น้ำน้อย ต่างหากที่ดึงดูดให้ต้องก้าวตรงเข้าไป ลมเย็นๆที่พัดมาปะทะกาย กับภาพที่ปรากฎอยู่เบื้องหน้าเป็น ลำน้ำน้อย ทั้งสายที่ทอดยาวออกไปสุดตาทั้งซ้ายขวา ฝั่งตรงข้ามก็เป็น บ้านเรือน ริมน้ำ ที่ตั้งอยู่ ดูสงบเย็น
  มองไปเบื้องล่าง เรือข้ามฝาก ลำน้ำน้อย ก็ยังทำหน้าที่รับส่งผู้คน 2 ฝั่ง อยู่เป็นกิจวัตร เหมือนที่เคยเป็นมา มันถูกขับเคลื่อน ด้วยแรงมนุษย์ ซึ่งอาศัยภูมิปัญญาช่วยผ่อนแรง คือรอกที่ผูกโยงจากเชือกเส้นใหญ่ ขึงพาด 2 ฝั่งน้ำ พอผู้โดยสารลงเรือ คนเรือก็สาวเชือก ดึงเรือให้เคลื่อนตัวสู่อีกฝั่ง ไม่ต้องใช้น้ำมัน ไม่สร้างมลภาวะ 
คงเป็นกิจกรรมนี้เท่านั้น ที่ทันสมัยสุดๆในยุคน้ำมันแพง และผู้คนโหยหา พลังงานทดแทน ค่าโดยสารก็แค่คนละ 2 บาท นั่งเล่น ข้ามฟากไปมา ให้ครื้นเครงสักกี่รอบก็คงทำได้สบายกระเป๋า 
ภาพรวมทั้งหมดที่มองเห็นจากระเบียงนี้ ก่อให้เกิดจินตนาการว่า ถ้าทำให้ โรงแรม นี้ครึกครื้น คืนชีพขึ้นมาได้อีกครั้งหนึ่ง มันคงจะเป็นโรงแรมที่สนานใจสุดๆ เหมาะที่จะหลีกลี้หนีเมืองกรุง มาฝังดัวนอนเล่นเย็นใจ ฝันเคลิ้มๆ อยากจะให้ใครสักคนที่มีสตางค์ มาช่วยทำให้มันมีชีวิตขึ้นมาใหม่ แล้วฉันจะเป็นนักแรมทางที่มาเยี่ยมเยือน ใช้บริการเป็นรายแรกๆทีเดียว