พิธีพระราชทานประริญญาบัตร 2554

วันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

รำลึกถึง....ตลาดวิเศษชัยชาญ

    ถ้าย้อนเวลากลับไป 20 ปี ชีวิตและวิถีในตลาด หลังศาลเจ้าโรงทอง อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง ก็เห็นจะเป็นปกติสำหรับชาวกรุงไม่แท้อย่างฉัน แต่ในวันนี้ วิถีในกรุง เปลี่ยนแปลงชีวิตไป เป็นการอยู่และชินกับความ ทันสมัยด้วยโรคโหยหาอดีตจึงทำให้ตลาดเบื้องหน้านี้ดูคลาสสิก
ชิ้นมะพร้าวที่แม่ค้าจับยัดเข้าใส่เครื่องขูด รูปทรงเหมือนตู้สี่เหลี่ยมติดมอเตอร์ เสียงดังครืดๆ แปรสภาพเป็นละอองฝอยสีขาว ตกลงในกะละมังใบใหญ่ที่รองรับอยู่ มันก็ไอ้แบบเดียวกันกับที่ฉันเคยไปยืนดูแม่ค้าขายมะพร้าวขูดในตลาด เมื่อถูกแม่ใช้ให้ไปซื้อมะพร้าวมาคั้นกะทิทำขนมให้กิน
    ภาพร้านขายของสารพัดนึก ตั้งแต่ข้าวสารใส่กระบุงตวงขายเป็นลิตร น้ำตาลทรายในกระสอบตักชั่งขายเป็นกิโล พริกแห้ง หอม กระเทียม ในกระจาด เรื่อยไปจนถึงปูนแดงกินกับหมาก (ที่ฉันก็เคยวิ่งซื้อเอาไปแช่น้ำทำน้ำปูนใส ) ใส่ถุงพลาสติกเล็กๆ วางเรียงอยู่ในกะละมังอลูมิเนียม
     ตลาดวิเศษชัยชาญ ริมแม่น้ำน้อย ยังมีภาพแบบนี้อยู่เต็มเปี่ยม ชาวขุมชนยังดำเนินอยู่ในวิถีแบบนี้อย่างเป็นปกติ และมุ่งมั่นที่จะรักษามันเอาไว้ แม้สภาพบางอย่างอาจต้องปรับเปลี่ยนตามกระแสวัตถุนิยม สังคมบริโภค ที่ถาโถมเข้ามาตามแรงกระหน่ำของทุนนิยม ( นายกทักษิณบอกว่ามันจำเป็นและต้องปรับ เพื่อความเป็น โกลบอลไลท์เซชั่น ” ) บางอย่างอาจต้องซ่อมแซม สร้างเสริมเพราะความทรุดโทรมจากกาลเวลา แต่ก็พยายามรักษารูปแบบ โดยอาศัยอ้างอิงต้นแบบเดิม ให้กลมกลืนไม่โดดเพี้ยน
     ย่างก้าวแรกในตรอกแคบหลังวัดนางใน อันเป็นทางเข้าสู่ตลาด มีร้านขนมเก่าแก่ ที่อยู่คู่เมืองอ่างทองมา มากกว่า 30 ปี ตั้งอยู่เหมือนเป็นแผนกต้อนรับหน้าตาแฉล้ม ด้วยรูปแบบของร้านที่แม้จะปรับเปลี่ยนไปจากเดิม แต่ก็ขรึมเก๋ในรูปแบบแบบตะวันออก หรือ Oriental style ที่นักตกแต่งฮิตเอามาทำร้านหล้า แบบฮิปๆใน กทม.
      ขนมนมเนย ล้วนเป็นรูปแบบโบราณ ทำกันมาเนิ่นนาน ประเภท ขนมอบควันเทียน อย่าง กลีบลำดวน จ่ามงกุฎ ทองเอก ถูกจัดใส่ถุงตกแต่งสวยงามชวนซื้อ นี่ก็เป็นการปรับ เปลี่ยนในแนวสร้างสรรค์เพื่อการค้า ในยามที่คนยุคปัจจุบัน จะหลงรูปก่อนเข้าถึงแก่น นับเป็นการผสมผสานให้ลงตัวเพื่อความอยู่รอด
    ร้านตรงข้ามกันเป็นร้านกาแฟอาโกแบบเก่าเดิมๆ ที่ยังมีคอกาแฟหนุ่ม(เหลือ)น้อย ชาวตลาด ใช้เป็นที่สังสรรค์ประจำวันอย่างที่เคยเป็นมา หนุ่มๆก็ล้วนมีอัธยาศัย ส่งยิ้มกวักมืออนุญาตให้ฉัน ที่ดูยังไงก็รู้ว่าเป็นนักท่องเที่ยวพวกสอดรู้ ถ่ายภาพได้ตามสบาย
      เดินเลาะมาเรื่อยๆ ผ่านห้องแถวไม้แบบเก่า ที่ยังมีผู้คนอาศัยและใช้ชีวิตอย่างปกติ บ้านที่ไม่ได้ค้าขายจะเปิดประตูบานเพี้ยมแง้มไว้เพียงบานเดียว ส่วนบ้านไหนที่ค้าขาย เล็กๆน้อยๆ ก็เปิดประตูกว้างหน่อย วางแผงตั้งโต๊ะ ขายของหน้าบ้านไปตามกิจการ บ้านนี้ขายขนมรวงผึ้ง ติดธงเหลือง แสดงว่าเป็นอาหาร เจโฆษณาตามกระแสนิยมแห่งเทศกาลกินเจ (ซึ่งฉันก็สงสัยว่า ขนมรังผึ้งเนี่ย มันมีเนื้อสัตว์ หรือของแสลงเจเป็นส่วนประกอบด้วยหรือ)
     บ้านนั้นขายหมากพลู ของกระจุกกระจิก โน่นขายขนมเด็กแขวนเป็นแผงแบบเก่า จะแวะจับเบอร์ลุ้นรางวัล รำลึกถึงชีวิตวัยเด็กก่อนก็ได้ เหล่านี้มีให้ดูไป เดินไป เพลินๆตามรายทาง
     จนมาถึงตัวตลาดที่พื้นที่ขยายใหญ่ขึ้น เป็นสี่แยกแตกเป็นซอยซ้าย ขวา ร้านรวงก็ใหญ่ขึ้น ส่วนนี้น่าจะเป็นหัวใจของตลาด มีทั้งร้านขายผัก ของสดของแห้ง ขนมทำสดๆขายในรถเข็นและแผงน้อยใหญ่ อีกทั้งยังมีร้านขายขนมประเภทเดียวกับร้านที่ปากซอยเป็นดาราของนักท่องเที่ยว ให้ละลายทรัพย์กันได้อีกร้าน สมเป็นแหล่งของขนมโบราณจริงๆ
    บรรยากาศเป็นกันเองเมื่อเริ่มขึ้น ก็สุดจะยื้อยุด ความครื้นเครง คุณพี่บ้านถัดมา เปิดประตูออกมาเจอกล้อง ก็เอียงอายแบบธรรมชาติ แต่พอถูกขอให้เป็นแบบถ่ายภาพ คู่กับประตูบ้านบานไม้เก่า แกก็ยิ้มให้อย่างเต็มใจ บ้านเย็บผ้าใช้จักรแบบโบราณ คุณพี่ยิ้มทักทายสดใส บ้านทำขนมยกกระทะใบโต ออกมากวนข้าวเหนียวแดงหน้าบ้านกันอย่างขันแข็ง 
   บ้านเก่าของผู้มีอันจะกินหลังหนึ่งใน ตลาด ดำเนินกิจการค้าขายและอยู่อาศัยไปด้วย ก็มีการปรับแปลงโฉมของอาคาร ยืดอายุเพื่อการดำรงอยู่เป็นไปแบบคลาสสิค ชั้นล่างคุมโทนขรึมแบบเดิมจัดรูปแบบให้เอื้อกับการค้า แหงนหน้ามองดูชั้นบนก็จะเห็นระเบียงไม้ลายฉลุทาสีเขียวพลาสเทล โทนขรึมและหวานสลับกันจัดวางลงตัวงดงาม ติดกันเป็นบ้านคหบดี ที่สะสมของเก่าแบบจีน ทั้งตู้ เตียง ตั้งไม้ ภาพเขียน ของประดับมากมาย จัดแน่นอยู่ในห้องแถวไม้ที่ผ่านการปรับปรุงมาเช่นกัน 
      เดินชมกันเพลิดเพลินจนมาถึงท่าน้ำหลังตลาด เป็นที่ตั้งของโรงแรมที่เคยเป็นที่พักพิงให้กับนักแรมทาง ผู้คนที่ขึ้นล่องทำมาค้าขายในอดีต ซึ่งในปัจจุบันก็ทรุดโทรมชราภาพขาดการดูแลปรับปรุง จนให้บริการไม่ได้แล้ว แต่ก็ยังมีผู้ดูแลพักอาศัยอยู่เป็นปกติตามสภาพ ฉันขออนุญาตเดินขึ้นไปชมชั้น 2 ของอาคาร สภาพก็ยังจัดกั้นไว้เป็นห้องๆแบบเดิมที่เป็นมา (ตามคำบอกเล่าของผู้ที่อาศัยอยู่) แต่จุดน่าสนใจไม่ได้อยู่เพียงห้องเก่าเล่าอดีตเท่านั้น ระเบียงกว้างที่หันหน้าออกสู่ แม่น้ำน้อย ต่างหากที่ดึงดูดให้ต้องก้าวตรงเข้าไป ลมเย็นๆที่พัดมาปะทะกาย กับภาพที่ปรากฎอยู่เบื้องหน้าเป็น ลำน้ำน้อย ทั้งสายที่ทอดยาวออกไปสุดตาทั้งซ้ายขวา ฝั่งตรงข้ามก็เป็น บ้านเรือน ริมน้ำ ที่ตั้งอยู่ ดูสงบเย็น
  มองไปเบื้องล่าง เรือข้ามฝาก ลำน้ำน้อย ก็ยังทำหน้าที่รับส่งผู้คน 2 ฝั่ง อยู่เป็นกิจวัตร เหมือนที่เคยเป็นมา มันถูกขับเคลื่อน ด้วยแรงมนุษย์ ซึ่งอาศัยภูมิปัญญาช่วยผ่อนแรง คือรอกที่ผูกโยงจากเชือกเส้นใหญ่ ขึงพาด 2 ฝั่งน้ำ พอผู้โดยสารลงเรือ คนเรือก็สาวเชือก ดึงเรือให้เคลื่อนตัวสู่อีกฝั่ง ไม่ต้องใช้น้ำมัน ไม่สร้างมลภาวะ 
คงเป็นกิจกรรมนี้เท่านั้น ที่ทันสมัยสุดๆในยุคน้ำมันแพง และผู้คนโหยหา พลังงานทดแทน ค่าโดยสารก็แค่คนละ 2 บาท นั่งเล่น ข้ามฟากไปมา ให้ครื้นเครงสักกี่รอบก็คงทำได้สบายกระเป๋า 
ภาพรวมทั้งหมดที่มองเห็นจากระเบียงนี้ ก่อให้เกิดจินตนาการว่า ถ้าทำให้ โรงแรม นี้ครึกครื้น คืนชีพขึ้นมาได้อีกครั้งหนึ่ง มันคงจะเป็นโรงแรมที่สนานใจสุดๆ เหมาะที่จะหลีกลี้หนีเมืองกรุง มาฝังดัวนอนเล่นเย็นใจ ฝันเคลิ้มๆ อยากจะให้ใครสักคนที่มีสตางค์ มาช่วยทำให้มันมีชีวิตขึ้นมาใหม่ แล้วฉันจะเป็นนักแรมทางที่มาเยี่ยมเยือน ใช้บริการเป็นรายแรกๆทีเดียว 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น