พิธีพระราชทานประริญญาบัตร 2554

วันเสาร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ผีตาโขน....หนึ่งเดียวในโลก









เป็น….งานอินเตอร์เนชั่นเนลไปซะแล้ว สำหรับงานแห่... ผีตาโขน
 
         ที่ อ.ด่านซ้าย จ.เลย มีทั้ง ฝรั่ง แขก ญี่ปุ่น มาร่วมขบวนกัน เป็นที่สนุกสนานครื้นเครง ทั้งเป็นเพียงผู้ชม เป็นผู้บันทึกเหตุการณ์บรรยากาศ ด้วยภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว ทั้งเข้าร่วมขบวนตามแห่สนุกๆ และที่น่าทึ่งคือ ทุ่มเทแปลงกายเป็นผีซะเอง
        .....บรรดาผีนานาชาติ ก็ไม่ได้แตกแนว แหกคอกไปลากเอาผีที่บ้านตัวมาร่วมขบวนด้วย ทุกตนยังคงแปลงตนเป็น ผีตาโขน แห่งลำน้ำหมัน ก็ผีเอกลักษณ์ สวยงามและเล่นสนุกๆแบบนี้จะมีที่ไหน.......ในโลกอีกเล่า
        ขบวนแห่เป็นที่รวมตัวของเหล่าผี จำนวนนับพัน เป็นเหมือนกันงานแสดงศิลปะเคลื่อนที่ขบวนใหญ่ นอกจากลวดลายที่ลงสีสันจี๊ดจ๊าด บนหน้ากากผีตาโขน อันเห็นเด่นชัดแล้ว เครื่องแต่งกายที่ทำจากผ้าลายไทย และเศษผ้าสีสดสวย ที่สะบัดไปตามลีลาการเต้นตามท่วงทำนองดนตรีพื้นเมืองอีสาน เสียงกรุ๊งกริ๊ง  กรุบกรับ ที่เกิดจากหมากกระแหล่ง ทีห้อยอยู่หลังบั้นเอว ล้วนเป็นองค์ประกอบเสริมความงามสดใส ให้บรรดาผีตาโขนน้อย ถ้าต้องเป็นผู้ตัดสินงานศิลป์เหล่านี้ เห็นทีจะเป็นภารกิจที่ลำบากใจ               

       กระแหล่ง .....เป็น เครื่องแขวนคอ วัว ควาย รูปร่างคล้ายกระดิ่งแต่ มีรูปทรงเป็นทรงเหลี่ยม ขนาดใหญ่กว่ามาก และมักทำด้วยไม้ เวลาสั่นจากการเคลื่อนไหว จะเกิดเสียงดัง เป็นเครื่องบอกตำแหน่งของวัว ควาย ได้ชัดเจน ก็ประมาณระบบติดตามตัว GPS แบบภูมิปัญญาเรียบง่ายแต่ได้ผลสูงสุด (ใครมี GPS ไว้ใช้งานก็ไม่ต้องคิดมากน่ะ) 
       กระแหล่ง นี่แหละที่บรรดาเหล่า...ผีตาโขน ต้องมีไว้ประกอบเครื่องแต่งกาย ภาคบังคับ เพราะจะทำให้เกิดเสียงสร้างความสนุกสนานและเอาไว้หยอกล้อสาวๆ แต่ปัจจุบัน หมากกระแหล่ง หายากขึ้นเพราะไม่ค่อยได้ใช้ในชีวิตประจำวันแล้ว วัสดุต่างๆ จึงถูกดัดแปลงนำเข้ามาใช้แทน ตั้งแต่กระดิ่งเสียงใส ไปจนถึงกระป๋องเปล่า ของเครื่องดื่ม และยอดฮิตเห็นทีจะเป็นกระป๋องเปล่าปลากระป๋อง ต่างก็เอามาดัดแปลงแต่งตามไอเดียใคร

     
         ผีตาโขน ....ไม่ได้มีเพียงรูปลักษณ์อย่างที่ได้เห็นชินตา ซึ่งเรียกว่า ผีตาโขนเล็ก...เท่านั้น  แต่ยังมี ผีตาโขน ที่แสดงออกด้วยรูปลักษณ์ต่างๆอีกมากมาย เช่น ผีตาโขนรูปสัตว์  ควาย ม้า ช้าง และที่สำคัญยังมี ผีตาโขนใหญ่   อีกประเภทหนึ่งที่จะต้องมีร่วมพิธี ผีตาโขนใหญ่จะแยกเป็น 2 เพศ ชัดเจน (ดูรูปประกอบ) เป็นผีตาโขนตัวผู้และผีตาโขนตัวเมีย มีขนาดใหญ่โตเทอะทะ ประมาณกันว่าสูงถึง 8 ศอก อันเปรียบเทียบว่าเป็นสัดส่วนของคนโบราณ ผูกโครงด้วยไม้ไผ่ แล้วมีคนเข้าไปขับเคลื่อนอยู่ในโครง ผีตาโขนใหญ่ จะมีออกอาละวาดอยู่ไม่กี่คู่ในงาน ว่ากันว่าคนทำผีตาโขนใหญ่จะสืบทอดกันอยู่ในตระกูลที่ทำมาแต่ดั้งเดิมไม่กี่ตระกูล
      ถ้าจะเปรียบ งานคัลนิวัล ที่บราซิลเป็นคัลนิวัลแห่งอเมริกาใต้ เป็นแซมบ้าคัลนิวัล ขบวนแห่และการละเล่นผีตาโขน เห็นจะเป็น คัลนิวัลแห่งที่ราบสูงไทย เป็นลำซิ่งคัลนิวัล ขนาดของงานคงไม่อาจจะเทียบกัน แต่ถ้าเทียบการสร้างสรรค์อันเป็นเอกลักษณ์แล้ว ผีตาโขนของไทยสู้เค้าได้สบาย และที่มีเหนือกว่าเห็นจะเป็นวัตถุประสงค์ของการจัดงาน  " บุญหลวง และประเพณีการละเล่น ผีตาโขน " เป็นงานบุญใหญ่หรืองานบุญหลวง ที่รวมเอาประเพณี บุญพระเวส และ บุญบั้งไฟ อันเป็นงานบุญสำคัญ 2 งาน ตามครรลองของ ฮีตสิบสองของภาคอีสาน ซึ่งจัดขึ้นทุกปีราวเดือน
     กำหนดการจัดงานที่แน่นอน จะได้รับจาก เจ้าพ่อกวนอันเป็นดวงวิญญาณของพระเสื้อเมือง ซึ่งจะบอกผ่านร่างประทับทรงเจ้าพ่อกวน (ระยะหลังๆนี้ เจ้าพ่อท่านคงจะเห็นใจลูกบ้าน ตามย่านเรือนอยู่ไม่น้อย เพราะท่านให้ฤกษ์มาทีไร มักจะตรงกับวัน สุดสัปดาห์ บ๊อยบ่อย )
      งานพิธีจะจัดกัน 3 วัน เหล่าผีตาโขนจะได้ออกอาละวาดหลอกหลอนผู้คน ใน 2 วันแรก ส่วนในวันที่ 3 ซึ่งถือว่าเป็นงานบุญหลวง จะมีแต่พิธีทางพุทธศาสนา ให้อุบาสก อุบาสิกา ได้เข้าร่วมพิธี (วันนี้เหล่าผีทั้งหลาย ก็พากันแปลงกาย เป็นสาธุชนในบัดดล) ได้ฟังเทศน์ฟังธรรมก่อเป็นอานิสงส์ผลบุญแรง โดยพื้นที่จัดงานพิธีสำคัญทั้งหลายจะอยู่ที่ วัดโพนชัย ไม่ว่าจะเป็น พิธีการเบิกพระอุปคุตอันเป็นประธานของงาน พิธีการแห่พระเวสสันดรเข้าเมือง ซึ่งก็สมมุติให้อาณาบริเวณของวัดคือเมือง พิธีการจุดบั้งไฟ และสำคัญที่สุดคือพิธีบุญหลวงเทศน์มหาชาติ 
       พื้นที่อาละวาดของบรรดาผีตาโขน จะกระจายออกไปเป็นรัศมี จากศูนย์กลางคือวัดโพนชัย รวมตัวกันเป็นกลุ่มๆ หลอกหลอนชาวบ้าน เป็นกิจกรรมหลักใน 2 วันนี้ แต่ก็มีนัดหมายมารวมกันเป็นขบวน บริเวณการจัดงานละเล่นผีตาโขน บริเวณตั้งแต่ที่ทำการเทศบาลด่านซ้าย ไปจนถึงที่ว่าการอำเภอด่านซ้าย ขบวนใหญ่ จะมีในช่วงบ่ายวันที่ 2 ของงาน เหล่าผีทั้งหลายจะรวมพลตามสังกัดของตน จากชุมชน หมู่บ้าน อบต. หรือชมรมหน่วยงานต่างๆ ที่จัดกันมาเพื่อร่วมประกวดประชันกัน บรรดาผีตาโขนจะออกลวดลายอาละวาดกันเต็มที่ ทั้งลีลาท่าทางการแต่งกาย และกิจกรรม บ้านไหนมีทีเด็ดอย่างไร ก็งัดมาใช้กันอย่างหมดไส้หมดพุง เป็นที่สนุกสนานทั้งผีทั้งคน  
      ผีหลอก น่าจะเป็นที่หวาดกลัว แต่ผีตาโขนที่ด่านซ้าย คงเป็นผีที่ล้มเหลวที่สุดในการปฏิบัติภารกิจ เพราะหลอกใครก็ไม่มีใครกลัว มีแต่หัวเราะขบขัน อยากให้หลอกอีก.....มันแปลกดีนะ ที่จริงแล้ว ผีตาโขนแต่ดั้งเดิมดูน่ากลัวกว่าวันนี้ ด้วยการแต่งกายที่ทำให้น่ากลัวสมจริง นุ่งห่มด้วยผ้าขี้ริ้วเก่าคร่ำ หน้ากากถูกวาดให้น่ากลัวด้วยสีดำและเขม่าก้นหม้อ ไม่มีสีฉูดฉาด ผู้คนที่ถูกหลอกหลอนน่าจะมีอาการผวามากกว่านี้แน่ 

       ในวันนี้ รูปลักษณ์ของผีตาโขนได้เปลี่ยนไป ครับคราว่าเป็นงานละเล่นผสมงานศิลปะ หน้ากากที่วาดลายงดงามเป็นงานศิลป์ กลายเป็นของสะสมที่มีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อยๆ จนวันนี้ราคาค่างวดสูงไปเป็นเลขถึง 4 หลัก และเชื่อว่าอีกไม่นาน ก็น่าจะถีบตัวสูงได้ถึง 5 หลัก เพราะวันนี้ งานละเล่นผีตาโขนได้กลายเป็นงานระดับนานาชาติไปแล้ว  งานละเล่นผีตาโขนถือ เป็นความสำเร็จ ของการประชาสัมพันธ์และร่วมกันพัฒนาการท่องเที่ยว ของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน และที่สำคัญจากการร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้าน เจ้าของพื้นที่ แต่จะอย่างไรต้องไม่ลืมประเด็นสำคัญ หัวใจของการจัดงานว่า เป็นการจัด งานบุญหลวง ตามประเพณีอันสืบทอดมา เป็นมรดกทางวัฒนธรรม แสดงความเป็นตัวตนของพื้นถิ่น และเป็นที่น่ายินดีว่าถึงวันนี้หัวใจของงานก็ยังไม่ถูกละเลยปฏิบัติตามครรลองได้เป็นอย่างดี  นักท่องเที่ยวอย่างเราท่านก็ควรจะท่องเที่ยวอย่างเข้าใจและให้ความเคารพ  ยังมีสิ่งหนึ่งที่ได้มองเห็น จากสายตาที่แอบมองออกไปนอกงานที่กำลังสนุกสนาน คือธรรมชาติงามตา บรรยากาศชนบทที่งดงาม มีอีกหลายสิ่งที่เงียบงาม อยากใคร่มาได้สัมผัสใกล้ชิด จนต้องจดไว้เป็นบันทึกอีกหน้าในตารางนัดหมายว่า จะกลับมาด่านซ้ายอีกครั้งในช่วงเวลาที่เหมาะสม  ........ ในวันที่ไม่มีผีตาโขนออกอาละวาด
ขอบคุณบรรดา ผีตาโขน ทั้งหลายที่เป็นตัวเร้าให้อยากมาเยือน อ.ด่านซ้าย จ.เลย
 .....และจากนี้ไปการเดินทางจะไม่มีผ่าน......เลย

ที่มา  :
  http://www.thailandmgg.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538658812&Ntype=4

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น